เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๖

ทรงพระเจริญ

ร่วมลงนามถวายพระพร

เข้าสู่เว็บไซต์วิทยาลัยชุมชนตราด

โครงการสัมมนา เรื่อง “ทิศทางการขับเคลื่อนสถาบันวิทยาลัยชุมชนสู่กลุ่มอุดมศึกษาพัฒนาชุมชนท้องถิ่น”

14 ก.ย. 2565   285 ครั้ง  

ระหว่างวันที่ 13 - 14 กันยายน 2565 วิทยาลัยชุมชนตราด นำโดย นายอมฤทธิ์ พูลสวัสดิ์ ประธานกรรมการสภาวิทยาลัยชุมชนตราด พร้อมด้วย นายกิตติ โกสินสกุล ประธานกรรมการส่งเสริมกิจการวิทยาลัยชุมชนตราด ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิสิฎฐ์ กิจปรีชา รองประธานอนุกรรมการวิชาการ ดร.กรรณิกา สุภาภา ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนตราด นายณัฐวุฒิ โพธิ์ทักษิณ รองผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนตราด ฝ่ายวิชาการและบริหารทั่วไป และนางสาวนิพัทธา เอี่ยมใบพฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการ เข้าร่วมโครงการสัมมนา เรื่อง “ทิศทางการขับเคลื่อนสถาบันวิทยาลัยชุมชนสู่กลุ่มอุดมศึกษาพัฒนาชุมชนท้องถิ่น” ณ โรงแรมริชมอนด์ นนทบุรี ผู้เข้าร่วมสัมมนา ประกอบด้วย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากสภาสถาบัน สภาวิชาการสถาบัน ประธานสภาวิทยาลัย กรรมการสภาวิทยาลัย อนุกรรมการวิชาการ ผู้อำนวยการวิทยาลัย และบุคลากรสถาบันวิทยาลัยชุมชน รวม 140 คน ซึ่งโครงการสัมมนา ฯ ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ ดังนี้

วันที่ 13 กันยายน 2565

ดร.สิริกร มณีรินทร์ นายกสภาสถาบันวิทยาลัยชุมชน เป็นประธานเปิดการสัมมนา เรื่อง “ทิศทางการขับเคลื่อนสถาบันวิทยาลัยชุมชนสู่กลุ่มอุดมศึกษาพัฒนาชุมชนท้องถิ่น” พร้อมทั้งได้มอบนโยบายและทิศทางการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความเป็นเลิศในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2670) โดยกล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสภาสถาบันได้มีการผลักดันนโยบายสำคัญ ๆ ได้แก่

(1) การจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนสุโขทัยที่มีการบริหารจัดการรูปแบบใหม่ เน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ
(2) การจัดตั้งสถานพยาบาลแพทย์แผนไทย วิทยาลัยชุมชนตาก โดยมีนายแพทย์พิเชฐ บัญญัติ กรรมการสภาสถาบัน เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน เป็นการใช้ความเชี่ยวชาญของกรรมการสภาสถาบันในการขับเคลื่อนแผนฯ ที่เป็นรูปธรรม
(3) การขับเคลื่อนงานวิจัยด้านช่างศิลป์ท้องถิ่นวิทยาลัยชุมชน ภายใต้สถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น มีวิทยาลัยชุมชนที่ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัย 12 วิทยาลัย

การจัดทำแผนพัฒนาความเป็นเลิศสถาบันวิทยาลัยชุมชนระยะ 5 ปี ภายใต้กลุ่มอุดมศึกษาพัฒนาชุมชนท้องถิ่น โดยมี ดร.ถนอม อินทรกำเนิด เป็นประธาน เป็นแผนฯ ที่มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรม โดยเน้นย้ำว่า การขับเคลื่อนแผนพัฒนาความเป็นเลิศสถาบันวิทยาลัยชุมชนระยะ 5 ปี ให้เป็นรูปธรรมได้นั้น สถาบันและวิทยาลัยชุมชนต้องยึดมั่นในค่านิยมองค์กร 3 ประการ ได้แก่ ยึดมั่นในความถูกต้องและเป็นธรรม การมุ่งมั่นในผลลัพธ์และความเป็นเลิศ และการเห็นคุณค่าของพลังการมีส่วนร่วม คำนึงถึงเงื่อนไขความสำเร็จของแผนฯ 4 ประการ ได้แก่ (1) ใช้ทรัพยากรร่วมกันทุกระดับ (2) คำนึงถึงความแตกต่างของพื้นที่ในมิติต่าง ๆ (3) ให้ความสำคัญกับความคิดริเริ่ม กลยุทธ์ และวิธีการของคนในพื้นที่ (4) บริหารจัดการให้ครบวงจร PDCA และให้ความสำคัญกับกลยุทธ์การขับเคลื่อนแผน 3 ประการคือ (1) ใช้ความเชี่ยวชาญของผู้ทรงคุณวุฒิในสภาสถาบันวิทยาลัยชุมชน หรือสภาวิทยาลัยชุมชน เป็น STEERING COMMITTEE กำกับทิศทางฯ (2) แสวงหาเครือข่ายเข้ามาเป็นพลังในการขับเคลื่อนฯ (3) ใช้กลยุทธ์การสื่อสารองค์กรในการสร้างการรับรู้ผลงานและอัตลักษณ์ของสถาบันวิทยาลัยชุมชน

การสัมมนาในวันนี้ ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.รัฐชาติ มงคลนาวิน อนุกรรมการด้านการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย คณะกรรมการการอุดมศึกษา บรรยาย เรื่อง “มุมมอง และโอกาสการพัฒนาสถาบันวิทยาลัยชุมชนสู่ความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาเชิงพื้นที่” ทำให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้มุมมองต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ในการกำหนดกลยุทธ์การพัฒนา วิทยาลัยชุมชนสู่การเป็นสถาบันอุดมศึกษาเชิงพื้นที่ได้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

วันที่ 14 กันยายน 2565

ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา บรรยายพิเศษ "บทบาทสภาวิทยาลัยชุมชนกับการขับเคลื่อนนโยบายสถาบันอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่น"

ได้ฉายให้เห็นภาพใหญ่ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ว่า มีการบริหารในรูปกรรมการระดับกระทรวง 3 ชุด ที่ช่วยคานอำนาจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คือ คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา (กมอ.) กำกับดูแลด้านมาตรฐานการศึกษา คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) กำกับดูแลด้านการบริหารงานบุคคล และคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ทำหน้าที่ให้คำแนะนำ ปรึกษา และเสนอแนะต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในทุก ๆ เรื่อง ตั้งแต่การกำหนดนโยบาย ธรรมาภิบาล การจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา โดยท่านมองว่า สถาบันวิทยาลัยชุมชน มีระบบการบริหารองค์กรเฉกเช่นเดียวกับสถาบันอุดมศึกษาทั่วไป ที่ระบบการบริหารองค์กรคู่ คู่ในที่นี้หมายถึง มี “กรรมการสภามหาวิทยาลัย หรือ สภาวิทยาลัยชุมชน” และ “ฝ่ายบริหาร คือ อธิการบดีหรือผู้อำนวยการสถาบัน” ซึ่งการบริหารองค์กรคู่ “กรรมการสภา” เป็นองค์กรที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่ “ฝ่ายบริหาร” ดังนั้น การปฐมนิเทศบทบาทหน้าที่ของกรรมการสภาฯ จึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ

ท่านได้สะท้อนถึงจุดแข็งที่สถาบันวิทยาลัยชุมชนมี คือ การเป็นองค์กรขนาดเล็ก มีความคล่องตัว มีหลักสูตรที่หลากหลาย และปรับตัวได้ง่ายกว่ามหาวิทยาลัยใหญ่ ๆ โดยมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสภาวิทยาลัยชุมชน ตามมาตรา 37 ของ พระราชบัญญัติสถาบันวิทยาลัยชุมชน พ.ศ. 2558 คือ ทำหน้าที่ให้ความเห็น ข้อแนะนำ ปรึกษา และข้อเสนอแนะ แก่ฝ่ายบริหาร เป็นเสมือน THINK TANK ในเรื่อง (1) การกำหนดนโยบายในด้านต่าง ๆ ทั้งการจัดการเรียนการสอน การบริหารจัดการ และด้านการเงิน จุดแข็งของวิทยาลัยชุมชน คือ ปรับหลักสูตรได้บ่อย ๆ มีหลักสูตรที่น่าสนใจหลายหลักสูตร เช่น หลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันจำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มีจำนวน 12 ล้านคน ดังนั้น วิทยาลัยชุมชนจะต้องปรับตัวตามให้ทันกับสถานการณ์ปัจจุบันด้วย (2) ด้านการระดมทุน และทรัพยากร โดยแนะวิธีการระดมทุนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ โรงพยาบาลศิริราช เป็นต้น (3) ด้านการแสวงหาความร่วมมือ ควรใช้ประโยชน์จากเครือข่าย (linkage) ของกรรมการสภา ฯ เช่น ภาคเอกชน จากผู้แทน อปท. จังหวัด หรือจากสถาบันอุดมศึกษาในจังหวัด สนับสนุนทั้งด้านอาจารย์ facilities การพัฒนาอาจารย์ของวิทยาลัยชุมชน และการศึกษาต่อยอด เป็นต้น (4) การขยับเป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับ เพื่อความคล่องตัว ซึ่งถือว่าเป็นแนวคิดในระยะยาวในอนาคต (5) ตำแหน่งทางวิชาการ เช่น ผู้ช่วยศาตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์ หากวิทยาลัยชุมชนสามารถทำให้อาจารย์ของวิทยาลัยชุมชนได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี เพื่อเป็นการดึงดูดอาจารย์ได้มากขึ้น (6) การตรวจสอบฝ่ายบริหาร ทั้งนี้ เน้นย้ำว่าการทำหน้าที่ของสภาวิทยาลัยให้น้ำหนักในการให้คำแนะนำ เสนอแนะ ความร่วมมือ มากกว่าการตรวจสอบ เส้นแบ่งของสภาวิทยาลัยกับผู้บริหารต้องชัดเจน

โดยท่านทิ้งท้ายไว้ว่า ท้ายสุดแล้วการทำหน้าที่ของกรรมการสภา ฯ ได้ดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลที่จะเรียนรู้เรื่องอำนาจหน้าที่ และการเสียสละ ทำงานเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมเพื่อให้เกิดความก้าวหน้า เพื่อให้การศึกษาระดับอนุปริญญา ซึ่งไม่ใช่กระแสหลักของประเทศ (มหาวิทยาลัย) ซึ่งวิทยาลัยชุมชนเป็นกระแสรองที่มีอนาคต การฝึกอบรมต่าง ๆ การทำงานกับคนเหล่านี้ ล้วนมีเกียรติ

อยากให้กำลังใจทุกท่าน เราต้องพิสูจน์ เราต้องแข่งกับตนเอง อยากฝากผู้บริหาร กรรมการสภา ท่านอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ซึ่งไม่ได้เกิดจากผู้บริหารเท่านั้น แต่เกิดจากกรรมการสภาด้วยที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ควรใช้โอกาสนี้ ตัวเล็กแต่เคลื่อนที่ได้เร็วและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้มาก