โครงสร้างและอำนาจหน้าที่วิทยาลัยชุมชนตราด

05 มิ.ย. 2564   6519 ครั้ง  

1. สำนักงานผู้อำนวยการ มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) ปฏิบัติงานเกี่ยวกับงานธุรการ และงานสารบรรณ ซึ่งเป็นงานช่วยสนับสนุนการปฏิบัติงานทั้งด้านวิชาการและบริหารจัดการให้มีความคล่องตัว ได้แก่ การรับ-ส่งหนังสือ งานพิมพ์ งานผลิตเอกสาร จัดเก็บและรักษาเอกสาร งบประมาณ ร่างโต้ตอบหนังสือ ติดตามและรวบรวมรายงานการดำเนินงานด้านต่าง ๆ และอำนวยความสะดวกในการจัดประชุม/สัมมนาและพิธีการ และประสานงานกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกที่เกี่ยวข้อง
(2) จัดทำข้อเสนอนโยบายและแนวทางการดำเนินงานตามพันธกิจวิทยาลัยชุมชน แผนจัดการศึกษา แผนปฏิบัติการ และแผนการพัฒนาชุมชน เพื่อสนองตอบความต้องการและเสริมสร้างองค์ความรู้ของชุมชนให้เข้มแข็ง เสนอต่อสภาวิทยาลัยชุมชน
(3) จัดทำคำของบประมาณ แผนการใช้งบประมาณ ติดตามการใช้จ่ายและรายงานผลการใช้งบประมาณต่อผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนและผู้อำนวยการสถาบัน และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
(4) กำกับ ดูแล การจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการระดับวิทยาลัยชุมชน และจัดทำรายงานผลตามคำรับรองการปฏิบัติราชการประจำปี
(5) รับ - จ่าย เก็บรักษา นำส่งเงินให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลัง จัดทำแผนกลยุทธ์ทางการเงิน และตรวจสอบเอกสารเกี่ยวกับหลักฐานการเบิกจ่าย และเบิกจ่ายเงิน
(6) บันทึกบัญชี และการจัดทำรายงานการเงินให้เป็นปัจจุบัน
(7) จัดหาพัสดุ บริหารสัญญา หลักประกันสัญญา ควบคุมและเบิกจ่าย จัดทำทะเบียนคุม ตรวจสอบพัสดุ และจำหน่ายพัสดุความปลอดภัย
(8) ควบคุม กำกับ ดูแล รับผิดชอบยานพาหนะ อาคารสถานที่ การรักษาความปลอดภัย
(9) วิเคราะห์ จัดทำแผนอัตรากำลัง จัดทำทะเบียนประวัติ สถิติการลา การลงเวลาปฏิบัติงานในวิทยาลัยชุมชน
(10 ) การรับสมัคร แสวงหา คัดเลือก เสนอการจ้าง และดำเนินการปฐมนิเทศบุคลากรจ้างเหมา
(11) จัดทำแผนพัฒนาบุคลากร ส่งเสริมพัฒนา และอำนวยความสะดวกให้บุคลากรในวิทยาลัยชุมชน ให้มีสมรรถนะสอดคล้องกับสายงาน
(12) ประสานงานร่วมกับสำนักงานสถาบันในเรื่องเกี่ยวกับ การบรรจุและแต่งตั้ง การพันทดลองปฏิบัติราชการ การรักษาราชการ การโอน การย้าย การขอช่วยปฏิบัติราชการ การลาศึกษาต่อ การประเมินผลการปฏิบัติราชการ การเลื่อนเงินเดือน เงินค่าตอบแทน เงินประจำตำแหน่ง การเกษียณอายุราชการ และการออกจากราชการ รวมทั้งการสนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัย
(13) รวบรวม จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ข่าวสารต่าง ๆ ของวิทยาลัยให้หน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไปได้ทราบ
(14) ปฏิบัติงานฝ่ายเลขานุการสภาวิทยาลัยชุมชน และคณะกรรมการส่งเสริมกิจการวิทยาลัยชุมชน
(15) วางระบบ ดำเนินการ และติดตามประเมินผลการดำเนินงานการควบคุมภายในและบริหารความเสี่ยงของวิทยาลัยชุมชน
(16) พัฒนาระบบเครือข่าย และระบบฐานข้อมูลสารสนเทศ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการ และการจัดการเรียนการสอนให้พร้อมใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(17) ปฏิบัติงานร่วมกับ หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

2. สำนักวิชาการ มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) พัฒนาหลักสูตรด้านวิชาการและด้านวิชาชีพให้สอดคล้องต่อความต้องการและการประกอบอาชีพของท้องถิ่นและชุมชนที่ตอบสนองต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของท้องถิ่นชุมชน
(2) จัดทำแผนการจัดการศึกษาหลักสูตรอนุปริญญา ประกาศนียบัตรฝึกอบรม และการบริการวิชาการให้เป็นไปตามมาตรฐาน
(3) จัดการเรียนการสอนหลักสูตรอนุปริญญา ประกาศนียบัตร และฝึกอบรมด้านวิชาการและด้านวิชาชีพ ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด และสอดคล้องกับบริบทของชุมชนด้วยรูปแบบที่หลากหลาย
(4) วิจัยเพื่อพัฒนาหลักสูตร งานวิชาการ สื่อ นวัตกรรมและการจัดการศึกษา
(5) พัฒนาระบบการพัฒนาศักยภาพผู้สอนประจำ และผู้สอนพิเศษ
(6) การนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษาของวิทยาลัยชุมชน
(7) ดำเนินการตามระบบและกลไกด้านงานทะเบียน วัดผลและประเมินผลและการเทียบโอนผลการเรียนของวิทยาลัยชุมชน
(8) ดำเนินการตามระบบและกลไกการประกันคุณภาพการศึกษาภายในและภายนอก
(9) พัฒนางานกิจการนักศึกษาให้มีคุณภาพ เป็นไปตามคุณลักษณะอันพึงประสงค์
(10) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

3. ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต วิจัย และนวัตกรรม มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1) พัฒนาระบบและส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยกระบวนการจัดการศึกษาในรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้ผู้เรียนในท้องถิ่นชุมชนได้อย่างเท่าเทียม และทั่วถึง
(2) ส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนา งานวิจัยองค์กร งานวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ งานวิจัยพัฒนาชุมชน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อสร้างความเข้มแข็งของท้องถิ่นและชุมชน การพัฒนาที่ยั่งยืน เสริมสร้างศักยภาพบุคคล ตอบสนองและสอดคล้องต่อความต้องการและการประกอบอาชีพของท้องถิ่นและชุมชน รวมทั้งถ่ายทอดวิทยาการ วิชาชีพสู่ชุมชน ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาประเทศ
(3) พัฒนาสื่อ นวัตกรรม และเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตในรูปแบบที่หลากหลายและสอดคล้องกับบริบทของชุมชน
(4) สนับสนุนและประสานความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยกับชุมชน ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันศาสนา องค์กรที่ดำเนินงานวัฒนธรรมหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อการพัฒนาการจัดการศึกษาของวิทยาลัยและชุมชน
(5) ส่งเสริม และสนับสนุนงานทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
(6) จัดตั้ง ส่งเสริม สนับสนุน หน่วยจัดการศึกษาและแหล่งเรียนรู้ชุมชน เพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงทางการศึกษา และให้บริการการศึกษาตลอดชีวิตครอบคลุมพื้นที่จังหวัดและกลุ่มเป้าหมาย
(7) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย