เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี
๓ มิถุนายน ๒๕๖๗
ทรงพระเจริญ
ระหว่างวันที่ 26 – 28 เมษายน 2565 วิทยาลัยชุมชนตราด นำโดย ดร.กรรณิกา สุภาภา ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนตราด พร้อมด้วยคณะทำงาน เข้าร่วมงานประชุมวิชาการระดับชาติเครือข่ายวิจัย สถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ครั้งที่ 15 "รวมพลังสร้างสรรค์เครือข่ายวิจัยและนวัตกรรมอุดมศึกษาไทย เพื่อการสร้างเสริมพลังสังคมสู่รากแก้วของแผ่นดิน" จัดโดย เครือข่ายวิจัยอุดมศึกษาภาคกลางตอนบน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ณ โรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริมให้อาจารย์และนักวิจัยของสถาบันอุดมศึกษาทำการศึกษาทั่วประเทศ รวมถึงเป็นการเปิดโอกาสให้คณาจารย์และนักวิจัยในแต่ละเครือข่ายฯ ได้สร้างความร่วมมือทางด้านวิชาการร่วมกัน
กิจกรรมภายในงาน เป็นการประชุมประธานกรรมการเครือข่ายบริหารการวิจัย (เครือข่าย C) ครั้งที่ 1/2565 การประชุมระดมความเห็น "เครือข่ายบริหารการวิจัยกับแนวทางและกลไกการขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเชิงพื้นที่ของภูมิภาค (ปี 2566 - 2570)" และการบรรยายพิเศษ หัวข้อสอดคล้องกับแนวโน้มการวิจัย นโยบายของรัฐและยุทธศาสตร์ชาติ อาทิ "การสร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย เพื่อการพัฒนาสู่การดำเนินการเชิงรุกอย่างมีประสิทธิภาพ" "การพลิกโฉมมหาวิทยาลัย Reinventing University" "การพัฒนาโจทย์วิจัยเชิงพื้นที่ สู่งานวิจัย High Impact : Social Innovation" รวมถึงการจัดนิทรรศการแสดงผลงานวิจัย (Research Exhibitions) ของเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา ทั้ง 9 เครือข่าย โดยตัวแทนเครือข่ายบริหารการวิจัยภาคตะวันออก ได้ร่วมจัดนิทรรศการแสดงผลงานวิจัย จำนวน 3 ผลงาน ประกอบด้วย
1. ผลงานวิจัยของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริรัตน์ เกียรติกูลานุสรณ์ คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ผลงานวิจัย "ไม้ค้ำยันฐานโค้งยูครัช" (Curve-based crutches : U-crutch) เป็นไม้ค้ำยันรักแร้ที่มีแนวคิดการออกแบบให้มีฐานโค้ง เพื่อให้จุดสัมผัสพื้นมากกว่าไม้เท้ามาตรฐานที่ฐานเป็นจุดเพียงจุดเดียว มีฐานรองรับกว้างตลอดช่วงวงจรการเดินซึ่งจะมีความมั่นคงในการเดิน และช่วงที่กำลังจะถ่ายน้ำหนักลงบนไม้เท้าเพื่อเคลื่อนตัวไปข้างหน้า (Swing phase) มีความราบรื่นตลอดช่วงวงจรมาเดิน รวมไปยังมีโครงสร้างที่ไม่ซับซ้อน สามารถปรับระดับได้ โดยจากการวิจัยทางวิศวกรรมศาสตร์ และกายภาพบำบัด พบว่า ไม้ค้ำยันยูครัช มีความแข็งแรงเทียบเท่าไม้ค้ำยันมาตรฐานอะลูมิเนียม สามารถใช้ได้กับผู้ใช้ทุกขนาด (One size fit all) และมีแนวโน้มมีประสิทธิภาพด้านลดพลังงานที่ใช้ในการเดินได้ดีในการเดินแบบ 2 point gait pattern อย่างไรก็ตามสามารถปรับปรุงให้มีประสิทธิได้ดีมากขึ้นอีก เช่น การเสริมปริง การปรับลักษณะและผิวสัมผัสของฐาน
2. ผลงานวิจัยของ นายพชร แก้วดี วิทยาลัยชุมชนตราด ผลงานวิจัย "การพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวกล้องเพาะงอกจากข้าวพื้นเมืองจังหวัดตราด" (Development of Germinated Brown Rice Products from Indigenous Rice in Trat Province) ผลิตภัณฑ์ข้าวกล้องเพาะงอกจากข้าวพื้นเมืองจังหวัดตราด ผลิตจากข้าวพื้นเมืองจังหวัดตราด 2 พันธุ์ คือ ข้าวขาวยายแว่น และข้าวล้นยุ้ง บรรจุอยู่ในถุงพลาสติกสุญญากาศ พร้อมฉลากที่มีตราสินค้าและเรื่องราว ของผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งคุณค่าทางโภชนาการ และความโดดเด่นเฉพาะตัว คือ ข้าวกล้องเพาะงอกจากข้าวขาวยายแว่นมีปริมาณแร่ธาตุเหล็กในระดับเดียวกับข้าวสินเหล็ก และทั้งสองผลิตภัณฑ์มีปริมาณ GABA ที่สูงกว่าข้าวสารทั่วไป และมีค่าดัชนีน้ำตาลอยู่ในระดับต่ำ
3. ผลงานวิจัยของ นางสาวสุดารัตน์ ตัณฑะอาริยะ วิทยาลัยชุมชนตราด ผลงานวิจัย "การวิจัยเชิงพื้นที่บ้านแหลมมะขามสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน" (Area-based collaborative research for community economic development at Laem Makham village, Trat Province, Thailand) ผลจากการดำเนินงานโครงการวิจัย “การศึกษาศักยภาพและการมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านแหลมมะขาม ตำบลแหลมงอบ อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด เป็นการขับเคลื่อนการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนแบบมีส่วนร่วม โดยได้ดำเนินงานในปี 2557 จวบจนถึงปัจจุบัน เกิดการขับเคลื่อนในมิติต่างๆ ทำให้ชุมชนมีกลุ่มการท่องเที่ยวที่มีความเข้มแข็ง มีการสืบสานภูมิปัญญา ศิลปะและวัฒนธรรมในรูปแบบแหล่งเรียนรู้ชุมชน และเกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนบ้านแหลมมะขาม